โรคหนองใน (Gonorrhoea) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Neisseria Gonorrhoea โดยแบคทีเรียชนิดนี้ ทำให้เกิดการติดเชื้อ ที่ท่อปัสสาวะ ช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนัก ลำคอ เยื่อบุมดลูก ท่อรังไข่ และตา หากไม่ได้รักษาสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น เป็นหมัน ปวดท้องน้อยเรื้อรัง และตั้งครรภ์นอกมดลูก
สาเหตุของโรคหนองใน
โรคหนองใน เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Neisseria gonorrhoeae เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุท่อปัสสาวะในผู้ชาย และทางปากมดลูกและท่อปัสสาวะของผู้หญิง ระยะฟักตัว 1 – 14 วัน แต่ที่พบบ่อยคือ 3 – 5 วัน ส่วนมากติดต่อผ่านการเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ไม่ว่าจะทางปาก ช่องคลอดหรือทางทวารหนัก
การวินิจฉัยโรคหนองใน
การวินิจฉัยโรคหนองใน แพทย์จะนำหนอง หรือปัสสาวะ มาตรวจ PCR จากนั้นจะนำมาย้อมหาเชื้อ และนำไปเพาะเชื้อ เพื่อตรวจสอบ ทั้งนี้แพทย์จะนำการตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ร่วมด้วย
อาการของโรคหนองใน
อาการโรคหนองในที่มักเกิดในผู้ชาย
- รู้สึกปวดแสบระหว่างปัสสาวะ
- มีหนองไหล
- รู้สึกระคายเคืองท่อปัสสาวะ
- อัณฑะบวม หรือมีการอักเสบ
อาการโรคหนองในที่มักเกิดในผู้หญิง
- ตกขาวมีกลิ่นเหม็น
- เป็นหนองหรือมูกปนหนอง
- รู้สึกปวดแสบระหว่างปัสสาวะ
- ปวดท้องน้อย
โรคหนองในติดต่อกันได้อย่างไร ?
โรคหนองใน ติดต่อกันได้จากการมีเพศสัมพันธุ์โดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย ผ่านการสัมผัสเยื่อบุช่องคลอด ช่องปาก ทวารหนัก องคชาติ นอกจากนี้ ยังอาจเกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อจากมารดาไปสู่ทารกในระหว่างคลอด และผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู่อื่น
กิจกรรมเหล่านี้ไม่ทำให้ติดโรคหนองใน ?
- การจูบ
- การกอด
- การจับมือ
- การใช้ห้องน้ำร่วมกัน
- การใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกัน
- การใช้สระว่ายน้ำร่วมกัน
- การใช้แก้วน้ำ จาน ชามร่วมกัน
**เชื้อโรคชนิดนี้ เมื่อออกจากร่างกายแล้วจะตายค่อนข้างง่าย ดังนั้นโอกาสที่จะติดต่อกันทางอื่น นอกจากทางเพศสัมพันธ์เป็นไปได้ยาก**
โรคหนองในป้องกันได้อย่างไร ?
การป้องกันโรคหนองใน สามารถทำได้ง่ายๆโดยการ สวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง ที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันตัวเอง ทั้งนี้ ควรมีคู่นอนเพียงคนเดียว เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการติดต่อ โรคหนองใน และ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น