ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ใครบ้างที่ควรตรวจเอชไอวี ?

การตรวจเอชไอวี ในปัจจุบันเป็นเรื่องง่าย ใครก็สามารถตรวจได้ คนไทยสามารถรับสิทธิการตรวจเอชไอวีฟรี ปีละ 2 ครั้ง จากโรงพยาบาลรัฐที่มีสิทธิประกันสุขภาพ หรือโรงพยาบาลที่คุณมีสิทธิประกันสังคม จึงทำให้การตรวจเอชไอวีเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ทำให้กลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงเข้ารับการตรวจได้อย่างรวดเร็ว

เอชไอวี คืออะไร ?

เอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus : HIV) คือ เชื้อไวรัสที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยจนเกิดความบกพร่อง โดยที่เชื้อไวรัสเอชไอวีจะทำลายเม็ดเลือดขาว CD4 ส่งผลให้มีโอกาสติดเชื้อโรคฉวยโอกาสต่าง ๆ ได้สูงกว่าปกติ ซึ่งผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ

  • ระยะเฉียบพลัน (Acute HIV Infectious)
  • ระยะสงบทางคลินิก (Clinical Latency Stage) 
  • ระยะโรคเอดส์ (AIDS)

ข้อดีของการตรวจเอชไอวี

  • ตรวจเพื่อป้องกันตัวเอง
  • ตรวจเพื่อวางแผนการมีครอบครัว
  • ตรวจเพื่อลดความกังวลและความเครียด
  • ในกรณีที่ตรวจพบเชื้อ ก็จะได้เข้าสู่กระบวนการรักษารวดเร็วและทันท่วงที
  • ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่คู่นอน
  • ป้องกันไม่ให้ไปสู่การติดเชื้อฉวยโอกาส

เอชไอวี ใครบ้างที่ควรตรวจ ?

การตรวจเอชไอวี เป็นเรื่องใหญ่สำหรับใครหลายคน ด้วยความที่ว่าไม่มั่นใจว่าตนเองนั้น มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือไม่ ตลอดจนมองว่าการตรวจเอชไอวี ควรเข้ารับการตรวจเมื่อจำเป็นเท่านั้น อย่างไรก็ตามหากคุณคือหนึ่งในผู้ที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังต่อไปนี้ ควรเข้ารับการตรวจพร้อมทั้งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย
  • ผู้ที่มีการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • ผู้ที่ถุงยางอนามัยแตก รั่ว หรือฉีกขาดขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • ผู้ที่โดนล่วงละเมิดทางเพศ หรือขาดสติขณะมีเพศสัมพันธ์
  • บุคลากรทางการแพทย์ ในกรณีที่โดนเข็มหรือมีดทิ่มตำ

Window Period คืออะไร ?

Window Period (วินโดว์ พีเรียด) คือ ระยะฟักตัวของเชื้อเอชไอวี กรณีที่ร่างกายได้รับเชื้อเอชไอวีแล้ว แต่ระบบภูมิคุ้มกันยังไม่สามารถตรวจพบแอนติบอดีได้ ดังนั้นการตรวจเอชไอวีที่แม่นยำมากที่สุด คือรอให้ผ่านระยะฟักตัวนี้ไปก่อน โดยทั่วไปแล้วจะมีระยะเวลาหลังจากได้รับเชื้อเอชไอวีแล้วประมาณ 2-3 สัปดาห์ขึ้นไป อย่างไรก็ตามการตอบสนองต่อเชื้อของระบบภูมิคุ้มกัน ในแต่ละคนจะแตกต่างกันไปด้วยเช่นกัน

วิธีตรวจเอชไอวี ตามระยะ Window Period

  • การตรวจเอชไอวีแบบหาสารพันธุกรรมของเชื้อ (NAT)  ระยะฟักตัวตั้งแต่ 7 วันขึ้นไป วิธีนี้ถือเป็นการตรวจเอชไอวีที่รวดเร็ว และมีความแม่นยำ สามารถรู้ผลได้ 5-7 วันหลังจากทำการตรวจ ซึ่งการตรวจแบบนี้ แพทย์จะแนะนำให้กลับมาตรวจซ้ำอีกครั้งหลังจากนี้ 1-3 เดือน เพื่อยืนยันผล
  • การตรวจเอชไอวีแบบ HIV Ag/Ab (Gen 4th) ระยะฟักตัวตั้งแต่ 14 วันขึ้นไป วิธีนี้เป็นการตรวจเอชไอวีด้วยการใช้น้ำยา Gen 4th ซึ่งเป็นการพัฒนาของการตรวจเอชไอวีแบบหาภูมิต้านทาน (Antibody) และการตรวจเอชไอวีแบบหาโปรตีนจำเพาะของเชื้อ (Antigen) รวมอยู่ในน้ํายาเดียวกัน สามารถรู้ผลได้ภายใน 1-2 ชั่วโมง หลังจากทำการตรวจ
  • การตรวจเอชไอวีแบบหาภูมิต้านทาน (Anti-HIV) ระยะฟักตัวตั้งแต่ 30 วันขึ้นไป และมักจะเป็นวิธีที่ใช้ตรวจซ้ำอีกครั้ง หลังจากเคยตรวจทั้งสองแบบแรกมาแล้ว สามารถรู้ผลได้ภายในวันเดียวเช่นกันกับการตรวจแบบน้ำยา Gen 4th

ขั้นตอนการตรวจเอชไอวี

  • การเจาะเลือดเพื่อตรวจเอชไอวี ไม่ต้องอดข้าวหรือน้ำ 
  • เตรียมบัตรประจำตัวประชาชน แล้วไปขอตรวจที่โรงพยาบาล คลินิกนิรนาม หรือคลินิกเอกชนเฉพาะทาง หลังจากมีความเสี่ยงมาประมาณ 2-4 สัปดาห์
  • ยื่นบัตรประชาชนแก่เจ้าหน้าที่ พร้อมแจ้งว่าจะมาตรวจเอชไอวี
  • ผู้เข้ารับการตรวจจะได้รับคำปรึกษา /คำแนะนำ จากแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพูดคุย ประเมินความเสี่ยง และเซ็นชื่อในใบยินยอมเพื่อตรวจเอชไอวี โดยส่วนมากแล้วมักใช้เวลา ไม่เกิน 30 นาที
  • เข้ารับการตรวจเลือด เพื่อตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งสามารถรู้ผลได้ภายในวันเดียว (ทั้งนี้ระยะเวลาแจ้งผล ขึ้นอยู่กับสถานบริการนั้นๆ กรุณาสอบถามข้อมูลก่อนเข้ารับบริการ)
  • ฟังผลการตรวจเลือด
  • แพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญ จะให้คำแนะนำเพื่อการดูแลตนเอง และการวางแผนในการใช้ชีวิต

ทำไมต้องตรวจเอชไอวีซ้ำ

ด้วยระยะฟักตัวของเชื้อ อาจทำให้ผลเลือดออกมาเป็นลบ ทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่า ตนเองไม่ติดเชื้อเอชไอวี แต่อีกนัยน์หนึ่ง ผลลบที่ได้อาจอยู่ในช่วงระยะเวลาที่แอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสเอชไอวี ยังมีไม่มากพอที่จะตรวจจับเชื้อเจอ ดังนั้น การตรวจเลือดซ้ำอีกครั้งที่ 3 เดือน จะเป็นการช่วยยืนยันผลที่แน่นอนอีกครั้งว่า คุณมีเอชไอวีหรือไม่มี

ขอบคุณข้อมูล : Lovefoundation

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ถุงยางอนามัย เลือกซื้ออย่างไรให้เหมาะกับเรา

ทุกคนคงทราบกันดีว่า ถุงยางอนามัย   ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้กว่า 90% และยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ดีอีกด้วย แต่เป็นเฉพาะกับคนที่ใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้องด้วยนะ เพราะยังมีอีกหลายต่อหลายคน ที่ยังเลือกซื้อถุงยางอนามัยยังไม่เป็น และยังสวมถุงยางอนามัยด้วยวิธีที่ผิด จึงคงทำให้เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ และการติดโรคอย่าง เชื้อเอชไอวี ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยไม่เหมาะสมกับตัวเองนี่แหละ วันนี้ เรามีวิธีเลือกซื้อถุงยางอนามัยให้เหมาะกับตัวเอง ฉบับมือใหม่หรือแม้แต่ผู้ที่เคยใช้ถุงยางอนามัยมาหลายครั้งแล้วได้ทบทวนว่าที่ตัวเองรู้อยู่นั้นมีความถูกต้องหรือไม่ ทำความรู้จักถุงยางอนามัยกันก่อน! ถุงยางอนามัย หรือ Condom เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่นิยมใช้มากที่สุดในการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวและป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เนื่องจากถุงยางอนามัยสามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป โดยตัวถุงยางอนามัย ที่มีจำหน่ายในร้านค้าปัจจุบันมักทำมาจากยางสังเคราะห์ และยางธรรมชาติ แบ่งขนาดออกเป็นหลายไซส์ แต่ที่มีจำหน่ายในไทยจะมีอยู่ 4 ขนาดหลักๆ ได้แก่ ถุงยางอนามัย ขนาด 49 มีขนาดความกว้าง โดยวัด...